มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554

คิดเลขในใจช่วยป้องกันสมองเสื่อม

นพ.สุวินัย บุษราคัมวงษ์ แพทย์ด้านอายุรกรรมสมอง สถานพยาบาลกล้วยน้ำไท 2 เปิดเผยว่า “การคิดเลขในใจช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมเนื่องจากทำให้สมองได้ออกกำลังและเพิ่มการสื่อสัญญาณประสาทในสมอง”
งานวิจัยในปัจจุบันพบว่า เซลล์ประสาทจะถูกผลิตสร้างขึ้นมาใหม่เรื่อยๆ แต่จะเสื่อมสภาพลงถ้าไม่มีการใช้งาน ถ้าเราทำกิจกรรมใดๆ ซ้ำๆ บ่อยๆ ทำให้เซลล์สมองส่วนนั้นถูกกระตุ้นบ่อยๆ เซลล์สมองส่วนนั้นจะแข็งแรง และไม่เสื่อมสภาพลงไปง่ายๆ
โรคสมองเสื่อมอาจเกิดขึ้นได้ในคนทุกวัย แต่พบบ่อยในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในประเทศไทยยังไม่มีการสำรวจอย่างเป็นทางการแต่คาดว่ามีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 200,000 – 300,000 คน มีงานวิจัยในประเทศตะวันตกพบว่า คนอายุ 65 ปีป่วยด้วยโรคสมองเสื่อม 1 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในทุกๆ 5 ปีที่อายุเพิ่มขึ้น ผู้ที่มีอายุ 86 ปีขึ้นไปพบว่าป่วยด้วยโรคสมองเสื่อม 32 เปอร์เซ็นต์
โดยผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจะสูญเสียเซลล์ประสาทเร็วกว่าปกติในระดับที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ทั้งเรื่องความจำ การควบคุมอารมณ์ ไม่สามารถแยกถูกผิด ความฉลาด และการสั่งงานของสมอง เช่น การเปิดแก๊สหุงต้มทิ้งไว้เพราะลืม หรือเห็นแก๊สเปิดทิ้งไว้ก็ไม่ปิด เพราะนึกไม่ออกว่าจะปิดอย่างไร และไม่คิดว่าจะเกิดอันตรายขึ้นได้ ฯลฯ
ซึ่งในคนปกติจะมีเซลล์สมองอยู่กว่า 1 ล้านล้านเซลล์ ซึ่งแต่ละเซลล์อาจเชื่อมโยงกับเซลล์ประสาทอื่นๆ อีกประมาณ 80,000 – 100,000 เซลล์
การคิดเลขในใจทุกวัน วันละหลายๆ ครั้ง จะกระตุ้นให้เกิดการออกกำลังกายของสมอง (Brain Exercise) กระตุ้นเซลล์สมองให้สร้างแขนงประสาทไปเชื่อมต่อกับเซลล์สมองส่วนอื่นๆ เพิ่มเส้นใยประสาทของเซลล์ประสาท (Neurons) ให้มีการเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น และยังอาจเพิ่มปริมาณสารเคมีที่บรรจุอยู่ประสาทให้เพิ่มมากขึ้น ทำให้สามารถใช้สมองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมเรามักจะเห็นพ่อค้าแม่ค้าสูงอายุคิดค่าอาหาร และเงินทอนได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
ฝึกคิดเลขในใจ         คิดค่าของที่ซื้อเวลาไปจ่ายตลาด คิดค่าอาหาร และเงินทอนเวลาไปทานข้าวนอกบ้าน คิดรายรับในแต่ละเดือน คิดค่าใช้จ่ายในบ้าน คิดตัวเลขรายรับ รายจ่ายเงินในบัญชีธนาคารแทนการกดเครื่องคิดเลข ฯลฯ ซึ่งต้องใช้ทั้งการบวก ลบ คูณ หารในบางครั้ง ช่วงแรกควรเริ่มจากเลข 2 หลักก่อนโดยไม่ต้องใช้นิ้วมือมาช่วยนับ หลังจากนั้นค่อยเพิ่มจำนวน เมื่อเริ่มคล่องขึ้นแล้วจึงเริ่มลบตัวเลขแบบง่ายๆ การคูณควรเริ่มจากการคูณเลขง่ายๆ จากเลข 1 – 12 ก่อน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น